เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
เจ้าชายฟิลิป
ดยุกแห่งเอดินบะระ
HRH Prince Philip 3 Allan Warren.jpg
เจ้าชายฟิลิปในปี 1992
คู่อภิเษกสมรสในพระมหากษัตริย์บริเตน
ระหว่าง6 กุมภาพันธ์ 1952 – ปัจจุบัน
คู่อภิเษกเอลิซาเบธที่ 2 (แต่งปี 1947)
พระบุตร
ราชวงศ์
พระบิดาเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก
พระมารดาเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค
ประสูติ10 มิถุนายน ค.ศ. 1921 (99 ปี)
ตำหนักมอนเรปอส เกาะคอร์ฟู
ราชอาณาจักรกรีซ

เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ[1] (อังกฤษ: Prince Philip, Duke of Edinburgh) เป็นเจ้าชายกรีก–เดนมาร์กซึ่งอภิเษกสมรสเข้าสู่พระราชวงศ์อังกฤษ ทรงเป็นพระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าชายฟิลิปประสูติในราชวงศ์กรีก-เดนมาร์ก เดิมมีพระนามว่า เจ้าชายฟิลิปปอสแห่งกรีซและเดนมาร์ก แต่ในระหว่างที่ยังเป็นทารก ราชวงศ์ของพระองค์ต้องเสด็จหนีภัยการเมืองออกจากประเทศกรีซ เจ้าชายฟิลิปจึงเติบโตและได้รับการศึกษาในประเทศฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร พระองค์เข้ารับราชการทหารในราชนาวีอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1939 ในวัย 18 ชันษา และในปีนั้นเอง พระองค์ทรงเริ่มติดต่อทางจดหมายกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธในวัย 13 ชันษา

ในฐานะทหารเรืออังกฤษ ทรงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองโดยปฏิบัติหน้าที่ในกองเรือเมดิเตอร์เรเนียนและกองเรือแปซิฟิก ภายหลังสงครามสิ้นสุด ทรงได้รับพระราชานุญาติจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ให้อภิเสกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ พระองค์ทรงสละฐานันดรทั้งหมดของกรีซและเดนมาร์ก และกลายเป็นสามัญชนข้าแผ่นดินสหราชอาณาจักรโดยใช้ชื่อและนามสกุลอังกฤษ "เมานต์แบ็ตเทน" ซึ่งแปลงมาจากนามสกุลเยอรมัน "บัทเทินแบร์ค" ของฝั่งมารดา

ฟิลิปได้รับพระราชทานยศขุนนางเป็นดยุกแห่งเอดินบะระ, เอิร์ลแห่งเมริออเน็ต และบารอนกรีนวิช แล้วจึงได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ. 1952 ดยุกฟิลิปก็ลาออกจากทหารเรือในยศนาวาโท ดยุกฟิลิปได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าอังกฤษอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1957

วัยเยาว์[แก้]

เจ้าชายฟิลิปปอสแห่งกรีซและเดนมาร์กประสูติที่เกาะคอร์ฟูในประเทศกรีซเมื่อวันที่ 10 มิถนุายน ค.ศ. 1921 เป็นพระโอรสองค์เดียวและเป็นบุตรคนที่ห้าของเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก กับเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค[2] ทรงเป็นสมาชิกในราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซินเนอร์บอร์-กลึคส์บวร์ค อันเป็นสาขาหนึ่งของราชวงศ์อ็อลเดินบวร์ค เนื่องด้วยพระบิดาทรงเป็นทายาทโดยตรงของพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ และพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ทำให้ทรงมีศักดิ์เป็นเจ้าชายของทั้งกรีซและเดนมาร์ก อยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของบัลลังก์ทั้งสอง อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เดนมาร์ก ค.ศ. 1953 ได้ตัดสิทธิ์สืบราชบัลลังก์เดนมาร์กของครอบครัวฟิลิป[3]

ความพ่ายแพ้ในสงครามกรีก–ตุรกี ได้บีบบังคับให้เสด็จลุงของฟิลิป พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ ต้องสละราชสมบัติในปีค.ศ. 1922 เจ้าชายแอนดรูว์พร้อมครอบครัวถูกจับกุมโดยคำสั่งของรัฐบาลทหารที่ตั้งขึ้นใหม่ ผู้บัญชาการกองทัพพร้อมนายทหารระดับสูงถูกประหารชีวิต ในขณะนั้น หลายคนมองว่าเจ้าชายแอนดรูว์คงไม่รอดชีวิต[4] เดือนธันวาคมปีนั้นเอง ศาลปฏิวัติได้พิพากษาเนรเทศเจ้าชายแอนดรูว์ออกจากประเทศกรีซตลอดชีวิต อังกฤษส่งเรือหลวงคาลิปโซ มารับครอบครัวของเจ้าชายแอนดรูว์ไปยังประเทศฝรั่งเศส พวกเขาเลือกที่จะอาศัยอยู่ในบ้านเช่าแถบชานเมืองกรุงปารีส ซึ่งเช่าจากพระญาติในราชสำนักฝรั่งเศส[5]

เจ้าชายฟิลิปได้รับการศึกษาครั้งแรกที่ The Elms โรงเรียนอเมริกันในกรุงปารีส[6] ทรงมีภาพจำเป็นเด็กฉลาดแต่ถ่อมตัว[7] ต่อมาในปีค.ศ. 1928 ทรงถูกส่งตัวไปอังกฤษและเข้าเรียนที่โรงเรียนแชม ช่วงนี้ทรงอยู่อาศัยกับท่านยายที่พระราชวังเค็นซิงตัน ซึ่งก็คือวิกตอเรีย เมานต์แบ็ทแตน มาร์เชเนสแห่งมิลด์ฟอร์ดเฮเวน และอาศัยกับท่านลุงที่ตำหนักลินเดิน ซึ่งก็คือจอร์จ เมานต์แบ็ทแตน มาร์ควิสแห่งมิลด์ฟอร์ดเฮเวน[8] และในช่วงสามปีหลังจากนี้ พี่สาวสี่พระองค์ได้สมรสกับเจ้าชายเยอรมันและย้ายไปพำนักในประเทศเยอรมนี เมื่อพระมารดาถูกวิจนิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทและต้องอยู่ในสถานบริบาล[9] พระบิดาก็ย้ายไปอยู่ในคฤหาสน์ที่มงเต-การ์โล เมืองทางใต้ของฝรั่งเศสใกล้ชายแดนดิตาลี ฟิลิปแทบไม่ได้ติดต่อกับพระมารดาอีกเลยตลอดช่วงวัยเด็ก

ในปีค.ศ. 1933 เจ้าชายฟิลิปในวัย 12 ชันษาถูกส่งตัวไปยังโรงเรียนของวังซาเลิมในประเทศเยอรมนี เนื่องด้วยครอบครัวพี่เขยของพระองค์เป็นเจ้าของโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อระบอบนาซีเรืองอำนาจในเยอรมนี นายควร์ท ฮาน ชาวยิวซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตจึงได้อพยพไปยังประเทศสกอตแลนด์และก่อตั้งโรงเรียนกอร์ดอนสตันที่นั่น เจ้าชายฟิลิปย้ายตามไปที่นั่นในสองภาคเรียนให้หลัง[10] ต่อมาในปีค.ศ. 1937 เจ้าชายฟิลิปได้ทราบข่าวร้ายว่า เจ้าหญิงเซซีลี พี่สาวของพระองค์ พร้อมด้วยสามีและบุตรน้อยสามคน ทั้งหมดเสียชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเที่ยวบินโคโลญ–ลอนดอน เจ้าชายฟิลิปในวัย 16 ชันษาเสด็จร่วมรัฐพิธีศพที่เมืองดาร์มชตัท ประเทศเยอรมนี[11] และในปีต่อมา จอร์จ เมานต์แบ็ทแตน ผู้เป็นลุงและผู้ปกครองของเจ้าชายก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง

เนื่องด้วยเจ้าชายฟิลิปเสด็จออกจากประเทศกรีซขณะเป็นทารก ทำให้พระองค์ไม่สามารถตรัสภาษากรีก พระองค์เคยกล่าวในปีค.ศ. 1992 ว่าทรงเข้าใจภาษากรีกอยู่บ้าง[12] และระบุว่าทรงคิดว่าตัวเองเป็นคนเดนมาร์ก แต่ครอบครัวพระองค์พูดภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมัน[12]

ราชการทหารเรือ[แก้]

หลังจบจากโรงเรียนกอร์ดอนสตันในปีค.ศ. 1939 เจ้าชายฟิลิปในวัย 18 ชันษาเข้าศึกษาที่ราชนาวิกวิทยาลัยเป็นเวลาหนึ่งภาคเรียน แล้วจึงถูกส่งตัวกลับประเทศกรีซไปอยู่กับพระมารดาเป็นเวลาราวหนึ่งเดือนที่กรุงเอเธนส์ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งกรีซ สั่งให้เจ้าชายกลับอังกฤษ พระองค์จึงเสด็จกลับอังกฤษในเดือนกันยายนและเข้าเป็นนายเรือฝึกหัดในราชนาวีอังกฤษ[13] พระองค์จบการศึกษาจากราชนาวิกวิทยาลัยในปีถัดมา ขณะนั้น สงครามโลกครั้งที่สองกำลังขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วในยุโรป แต่เจ้าชายก็เลือกรับราชการทหารในกองทัพสหราชอาณาจักรต่อไป ในขณะที่พี่เขยทั้งสองของพระองค์ นั่นคือเจ้าชายคริสโทฟแห่งเฮ็สเซิน และแบร์โทลด์ มาร์คกราฟแห่งบาเดิน เข้าร่วมรบอยู่ฝ่ายเยอรมัน[14] เจ้าชายฟิลิปได้เป็นว่าที่เรือตรีในเดือนมกราคม ค.ศ. 1940 ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาสี่เดือนบนเรือหลวงรามิลีย์ (HMS Ramillies) ในภารกิจคุ้มกันขบวนเรือขนส่งทหารออสเตรเลียที่ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ไม่นานจากนั้นก็ไปปฏิบัติหน้าที่บนเรือหลวงเคนต์ (HMS Kent) และเรือหลวงชรอปเชอร์ (HMS Shropshire) ในบริติชซีลอน ต่อมาหลังกองทัพอีตาลีบุกยึดประเทศกรีซในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940 พระองค์ถูกโอนตัวจากมหาสมุทรอินเดียมาปฏิบัติหน้าที่บนเรือหลวงวาแลนต์ (HMS Valiant) ในกองเรือเมดิเตอร์เรเนียน[15]

พระบุตร[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ในพิธีบรมราชาภิเษก ค.ศ. 1953

เจ้าชายฟิลิปทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร กับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ โบวส์-ลีออน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 ทั้งสองมีพระราชโอรสและธิดาดังนี้

พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส บุตร
เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ 14 พฤศจิกายน 1948 ยังทรงพระชนม์ เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ (หย่า)
คามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์
2 คน
เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี 15 สิงหาคม 1950 ยังทรงพระชนม์ มาร์ก ฟิลลิปส์ (หย่า)
ทิโมที ลอเรนซ์
2 คน
เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก 19 กุมภาพันธ์ 1960 ยังทรงพระชนม์ ซาราห์ มาร์กาเรต เฟอร์กูสัน (หย่า) 2 คน
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์ 10 มีนาคม 1964 ยังทรงพระชนม์ โซฟี ไรส์-โจนส์ 2 คน

ฐานันดรและพระอิสริยยศ[แก้]

Coat of Arms of Philip, Duke of Edinburgh.svg
  • 10 มิถุนายน 1921–28 กุมภาพันธ์ 1947: HRH เจ้าชายฟิลิปปอสแห่งกรีซและเดนมาร์ก
  • 28 กุมภาพันธ์ 1947–19 พฤศจิกายน 1947: เรือโทฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน
  • 19 พฤศจิกายน 1947–20 พฤศจิกายน 1947: HRH เซอร์ฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน[16]
  • 20 พฤศจิกายน 1947–22 กุมภาพันธ์ 1957: HRH ฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ[16]
  • 22 กุมภาพันธ์ 1957–ปัจจุบัน': HRH เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ [17][18]
Royal Monogram of Prince Philip of Great Britain.svg
ตราอาร์มประจำพระองค์ ตราพระนามาภิไธยย่อ

พระราชวงศ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชสาส์นแสดงความยินดี ในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, เผยแพร่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555, เรียกข้อมูลวันที่ 5 กรกฎาคม 2555
  2. Brandreth, p. 56
  3. Tågholt, Knud (1963). Det glücksburgske kongehus, fra Christian IX til prinsesse Margrethe: Den danske kongeslægt gennem hundrede år, 1863-1963. Aros. p. 6.
  4. "News in Brief: Prince Andrew's Departure". The Times: 12. 5 December 1922.
  5. Alexandra, pp. 35–37; Heald, p. 31; Vickers, pp. 176–178
  6. Boothroyd, Basil (1971). Prince Philip: An Informal Biography (First American ed.). New York: McCall Publishing Company. ISBN 0841501165.
  7. Alexandra, p. 42; Heald, p. 34
  8. Heald, pp. 35–39
  9. Brandreth, p. 66; Vickers, p. 205
  10. Brandreth, p. 72; Heald, p. 42
  11. Brandreth, p. 69; Vickers, p. 273
  12. 12.0 12.1 Rocco, Fiammetta (13 December 1992). "A strange life: Profile of Prince Philip". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 22 May 2010.
  13. Eade, pp. 129–130; Vickers, pp. 284–285, 433.
  14. Vickers, pp. 293–295.
  15. Heald, p. 60.
  16. 16.0 16.1 "No. 38128". The London Gazette. 21 November 1947. p. 5495.
  17. "No. 41009". The London Gazette. 22 February 1957. p. 1209.
  18. "The Current Royal Family > The Duke of Edinburgh >Styles and Titles".
ก่อนหน้า เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ถัดไป
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี 2leftarrow.png เจ้าชายพระราชสวามีแห่งสหราชอาณาจักร
ใน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

2rightarrow.png ยังไม่มี
อินเดีย ฮิกส์ 2leftarrow.png ลำดับการสืบสันตติวงศ์
ราชบัลลังก์ สหราชอาณาจักร

2rightarrow.png เจ้าชายแบร์นฮาร์ดแห่งบาเดิน
ไม่มี (พระองค์แรก) 2leftarrow.png ลำดับโปเจียม (ฝ่ายหน้า)
แห่งสหราชอาณาจักร

2rightarrow.png เจ้าชายชาลส์